วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ฟอร์มดีหรือแย่ศึกยูเออีเป็นเครื่องพิสูจน์
กีฬาฟุตซอลหรือฟุตบอลโต๊ะเล็ก เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยครั้งแรกประมาณปี 2540 ซึ่งในยุคนั้นคนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้จักกีฬาประเภทนี้ว่าเล่นกันอย่างไร มีกติกาการแข่งขันกันอย่างไร
แต่ในปี 2542 เป็นครั้งแรกที่สมาคมฟุตบอลฯ ได้ตัดสินใจที่จะส่งทีมฟุตซอลทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 1 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนักเตะในยุคนั้นก็เอานักฟุตบอลจากสนามใหญ่ที่มีพื้นฐานฟุตบอลที่ดีเอามาติดทีมชาติไทย ผลงานครั้งแรกทีมได้อันดับ 5 กลับมา
ส่งผลให้กีฬาฟุตซอลเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนบอลชาวไทยมากขึ้นเป็นลำดับ จนมีการจัดการแข่งขันศึกฟุตซอลชิงแชมป์ประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในรายการอัมเทล มีการแข่งขันในรอบคัดเลือกหาตัวแทนภาคต่างๆ เพื่อหาทีมเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายในกรุงเทพมหานครกับ 12 ทีมในไทยลีก
อีก 2 ปีถัดมาประเทศไทยก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 2 เพื่อคัดเอา 3 ทีมเข้าไปชิงแชมป์โลก ที่ประเทศกัวเตมาลา
โดยการฟาดแข้งฟุตซอลรายการนี้ นักฟุตซอลทีมชาติไทยส่วนใหญ่มาจากนักเตะบอลสนามใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น คำรณ สำราญพันธ์, อนุชา มั่นเจริญ, ประภาส ฉ่ำรัศมี, ยุทธนา พลศักดิ์ เป็นต้น
การแข่งขันในครั้งนั้นทีมฟุตซอลทีมชาติไทยคว้าอันดับ 3 ของเอเชียมาครองได้อย่างชนิดพลิกความคาดหมาย ได้สิทธิ์เดินทางไปชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 4 ที่ประเทศกัวเตมาลา
นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของทีมฟุตซอลทีมชาติไทย
ส่งผลให้กีฬาฟุตซอลเริ่มเป็นที่นิยมของคนไทยไปทั่วประเทศนับตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ทำให้เยาวชนไทยรวมทั้งประชาชนชาวไทยทั่วประเทศหันมาให้ความสนใจกับฟุตบอลโต๊ะเล็กอย่างจริงจัง
บวกกับหลายฝ่ายช่วยกันสนับสนุนบรรจุการแข่งขันฟุตซอลเข้าไปอยู่ในการแข่งขันกีฬานักเรียน เขตการศึกษา รวมไปถึงเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ
นอกจากนั้น ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยค่อนข้างที่จะโชคดี ได้คนจริงที่ชอบกีฬาเข้ามาดูแลวงการฟุตซอลอย่างจริงจัง ส่งผลให้กีฬาฟุตซอลในประเทศไทยโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
มีนักเตะสายเลือดใหม่ที่เกิดจากการเล่นฟุตซอลเพียงอย่างเดียว เกิดขึ้นบนถนนลูกหนังสายนี้เป็นจำนวนมากทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด
แค่นั้นยังไม่พอ ยังเกิดการแข่งขันฟุตซอลลีกขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรก บรรดานักเตะในสโมสรต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ไม่มีนักฟุตบอลสนามใหญ่เข้ามาผสมโรงด้วย เพราะสู้พวกที่เล่นฟุตบอลโต๊ะเล็กแบบมืออาชีพไม่ได้
ไม่แค่นั้นยังได้จ้างกุนซือฝีมือดีทั้งบราซิล รวมทั้งอาร์เจนตินา และสเปน เข้ามาติวเข้มเชิงฟุตซอลให้กับนักเตะไทย จนการเล่นก้าวพัฒนาขึ้นและมีโอกาสเดินทางไปแข่งขันชิงแชมป์โลกถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งที่กัวเตมาลา, ไต้หวัน และบราซิล
ต้องถือว่าในช่วงนั้นวงการฟุตซอลไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้นักเตะในทีมจะเป็นหน้าเก่าๆ ที่มากด้วยประสบการณ์ ทั้ง เลิศชาย อิสราสุวิภากร, ภานุวัฒน์ จันทา, พนมกรณ์ สายสอน และอีกหลายๆ คน
โดยทีมฟุตซอลทีมชาติไทยได้พบกับความสำเร็จในระดับเอเชียมาตลอดอย่างน่าชื่นใจ
จนกระทั่งปี 2554 ทีมฟุตซอลทีมชาติไทยได้เปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ในการทำทีม มาเป็น "บิ๊กแป๊ะ" ถิรชัย วุฒิธรรม เข้ามาเป็นผู้บริหารทีมแทน
นอกจากนั้น ทางประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติคนใหม่ได้ประกาศสร้างนักเตะสายเลือดใหม่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของทีมฟุตซอลทีมชาติไทยในอนาคต
ซึ่งบรรดานักเตะสายเลือดใหม่ชุดนี้ บางส่วนเป็นนักเตะเก่าที่ยังมีอนาคตในถนนฟุตบอลโต๊ะเล็ก นำทีมโดย ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง, กฤษดา วงษ์แก้ว, ณัฐวุฒิ หมัดยะลาน, อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ, เจษฎา ชูเดช ที่ส่วนใหญ่โตขึ้นมาจากทีมชุด บี ที่เคยคว้าแชมป์ฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียนมาเมื่อในอดีต
และในปี 2555 ทีมฟุตซอลชุดสายเลือดใหม่ก็ได้พบกับความสำเร็จในศึกฟุตซอล 2 รายการใหญ่ในระดับอาเซียน อย่างศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก กับศึกฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน
แต่ฟุตซอล 2 รายการนี้ไม่สามารถนำมาวัดผลงานความแข็งแกร่งของนักฟุตซอลทีมชาติไทยชุดนี้ได้ เนื่องจากคู่แข่งขันยังอ่อนชั้นจนเกินไป
แต่ในศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศยูเออี ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 55 ทีมฟุตซอลทีมชาติไทยชุดสายเลือดใหม่ ที่ไร้ตัวเก๋ามากประสบการณ์มาประคองทีม
จะสามารถประคองตัวฝ่าคลื่นลมอันเชี่ยวกรากของทีมระดับแนวหน้าของเอเชียได้หรือไม่
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าทีมสามารถหลุดเข้าไปเล่นในรอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ ต้องถือว่าเยี่ยมยอด และต้องถือว่าวงการฟุตซอลของเมืองไทยมีการก้าวพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ถ้าทีมดันตกรอบแรก...นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่า วงการฟุตซอลของเมืองไทยกำลังถอยหลังลงคลอง และมันเป็นเสมือนสัญญาณเตือนว่า
ทีมฟุตซอลไทยกำลังก้าวสู่ความตกต่ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับทีมฟุตบอลสนามใหญ่ เมื่อในอดีตที่ผ่านมา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น