กลวิธีการเสิร์ฟลูกในการเล่นแบดมินตัน (ประเภทคู่)
กลวิธีการเสิร์ฟลูกในการเล่นแบดมินตันประเภทคู่การเสิร์ฟลูกในการแข่งขันแบดมินตันประเภทคู่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การเสิร์ฟทุกครั้งต้องให้มีคุณภาพ
โดยเฉพาะการเสิร์ฟหยอดไปหน้าเน็ต ถ้าคุณเสิร์ฟลูกลอยโด่งเกินไปเพียงนิดเดียว คู่แข่งขันก็สามารถฉวยโอกาสโจมตีกลับได้อย่างง่ายดาย ลูกเสิร์ฟที่มีคุณภาพจะทำให้เราเป็นผู้กำหนดเกมส์ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ เคล็ดลับการเสิร์ฟลูกให้ดีมีหลายแง่มุมที่เราต้องพิจารณา เราอาจแจกแจงเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้:
1. ต้องเสิร์ฟลูกได้แม่นยำและมีคุณภาพ
พูดง่าย ๆ ก็คือ การเสิร์ฟในแต่ละครั้งจะต้องลงในจุดที่เล็งเอาไว้ เช่น เล็งว่าจะให้ลูกตกทางซ้ายหน้าเน็ต ลูกก็ต้องตกตามที่เล็งไว้ ไม่ใช่ว่าเล็งซ้าย แต่พอเสิร์ฟไป ลูกกลับวิ่งไปทางขวา หรือไม่ก็ออกนอกเส้นไปเลย
นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพของลูกเสิร์ฟด้วย ถ้าเสิร์ฟหยอดหน้าเน็ตก็ต้องให้ลูกวิ่งเรียดเน็ตให้มากที่สุด น้ำหนักของการเสิร์ฟก็จะต้องไม่น้อยหรือมากเกินไป ถ้าเสิร์ฟลูกเบาไป ลูกก็อาจไปตกในเส้นลูกเสิร์ฟสั้น แต่ถ้าเสิร์ฟแรงไป คู่ต่อสู้ก็สามารถดักตบได้สบาย ถ้าเลือกที่จะเสิร์ฟยาว ต้องมั่นใจว่าลูกจะได้น้ำหนักเพียงพอที่จะหนีมือคู่แข่งขัน แต่ก็ต้องไม่แรงจนเลยออกนอกเส้นเสิร์ฟยาว ถ้าเสิร์ฟลูกเรียดเน็ตพอ คู่แข่งขันก็โจมตีกลับยาก
2. ท่าทางในการเสิร์ฟจะต้องเหมือนเดิม
ไม่ว่าคุณจะเล็งให้ลูกเสิร์ฟไปตกในตำแหน่งไหนก็ตาม ท่วงท่าในการเสิร์ฟทุกครั้งจะต้องเหมือนกัน กล่าวคือ ตั้งแต่ท่าเตรียมพร้อม, ท่ายืนก่อนจะส่งลูก, ท่าเตรียมตีลูกจนถึงจังหวะการตีลูกจะต้องเหมือนกันทุกครั้ง เหตุผลที่ต้องเหมือนกันเพราะจะทำให้คู่แข่งขันเดาไม่ได้ว่าเราจะเสิร์ฟลูกแบบไหน ถ้าการเสิร์ฟของคุณไม่เหมือนกันทุกครั้ง เช่นเวลาคุณเสิร์ฟสั้น คุณมักจะยืนสองขาขนานกัน ส่วนเสิร์ฟยาวจะเอาขาใดขาหนึ่งไว้ข้างหน้า ถ้าคู่แข่งขันจับไต๋ได้ก็จบเห่
ถนัดเสิร์ฟท่าไหน ก็ต้องทำให้เหมือนกันทุกครั้ง **
3. เล็งจุดตกของลูกเสิร์ฟให้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ถ้าเราเอาแต่เสิร์ฟไปจุดเดิมเรื่อย ๆ คู่ต่อสู้ก็จะคาดการณ์ลูกเสิร์ฟของเราได้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงควรเล็งตำแหน่งลูกตกให้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เสิร์ฟสั้นบ้าง ยาวบ้าง หรือเสิร์ฟไปซ้ายที ขวาที ถ้าทำแบบนี้จะทำให้คู่แข่งขันสับสน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้คู่แข่งขัน กล้าที่จะพุ่งแย๊บลูกเสิร์ฟสั้นของเราอีกด้วย
เสิร์ฟไปจุดเดิม ๆ คู่แข่งขันก็ดักแย็บได้พอดี
4. เปลี่ยนจังหวะการเสิร์ฟเสียบ้าง
ในการแข่งขัน จังหวะการเสิร์ฟของเราจะต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของคู่แข่งขัน อย่างเช่นจังหวะไหนที่คู่แข่งขันไม่ทันระวังก็ให้เสิร์ฟอย่างรวดเร็ว หรือบางทีถ้าฝ่ายเรากำลังเสียเปรียบอยู่ เราก็สามารถดึงเกมส์ให้ช้าลงด้วยการเสิร์ฟได้ จังหวะการเสิร์ฟควรจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดทั้งเกมส์ บางทีก็เร็ว บางทีก็ช้า การทำแบบนี้จะทำให้คู่ต่อสู้ลังเลและสับสนจนทำให้จังหวะเสียได้
ขอบคุณข้อมูล : บล็อคแบดมินตัน โดย ชัยณรงค์ เตชะสถาพร