เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญในวงการฟุตบอล เมื่อ "แกรี สปีด" อดีตนักเตะทีมชาติเวลส์ ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ พร้อมกับทิ้งปริศนาว่า เหตุใด ยอดนักฟุตบอล ซึ่งประสบความสำเร็จมากมายในอาชีพค้าแข้ง ถึงคิดสั้นปลิดชีพตัวเอง ด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การจากไปแบบช็อกโลกของสปีด ไม่ใช่กรณีแรกที่เราเห็นนักฟุตบอลก่อเหตุฆ่าตัวตาย เพราะในอดีตที่ผ่านมา ก็มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นมากมาย แม้ว่า คนส่วนใหญ่จะมองว่า นักกีฬา ผู้ที่มีร่างกายแข็งแกร่ง กำยำ เป็นนักสู้ไม่เกรงกลัวใครในสนาม แต่ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว โลกอีกมุมหนึ่งของเขาอาจไม่ใช่อย่างที่เราเห็นจากภายนอกก็ได้
นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่โดยทั่วไปแล้ว คนปกติจะอยู่ดีๆ แล้ว ลุกขึ้นมาฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะยิ่งนักเตะรายนี้ เคยมีประวัติเป็นนักบอลอาชีพ และมีความต้านทานกับความเครียดต่างๆ มาพอสมควร ฉะนั้น การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น น่าจะมีเบื้องหลัง ซึ่งสำหรับ นักกีฬาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะไม่น่ามีปัญหา ถ้าเขาไม่มีจุดอ่อนในเรื่องของจิตใจ
นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ปัจจัยภายใน ซึ่งได้แก่ เรื่องของบุคลิกภาพ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต การอบรมเลี้ยงดู จะเป็นสาเหตุหลักที่ส่งเสริมให้คนคิดฆ่าตัวตาย มากกว่าเรื่องของปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นเพียงเหตุกระตุ้นเท่านั้น
"ผมไม่เชื่อว่า เหตุผลง่ายๆ จะทำให้คนคิดฆ่าตัวตาย แต่มันอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น เพราะการที่คนๆหนึ่งจะคิดฆ่าตัวตาย เขาจะคิดอยู่ 2 อย่าง 1.ไม่มีความหวังในชีวิต (Hopelessness) 2. ไม่มีใครที่จะช่วยเขา (Helplessness) ถ้ามีคนแสดงว่าเขาจะช่วย แล้วให้เขามีความหวัง ที่จะแก้ไขปัญหา เขาก็จะไม่ฆ่าตัวตาย"
"จริงๆ คนที่จะฆ่าตัวตาย เป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ตามหลักจิตวิทยาของซิกมุนด์ ฟลอยด์ บอกว่า ตนเองเป็นคนถูกทำร้าย ตนเองเป็นคนถูกฆ่า ตนเองควรจะต้องฆ่าตัวตาย มันจะเป็นแบบนี้ เพราะมันไม่โทษคนอื่น โทษแต่ตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจะสร้างภูมิคุ้มกัน ให้เขาเรียกว่าความรู้สึกรักตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งการจะบอกว่าตัวเองมีค่าหรือไม่มีค่า มันก็ต้องเกิดจากการเลี้ยงดู และประสบการณ์ ถ้าเราเลี้ยงเด็กให้มีความภาคภูมิใจ (Self-esteem) เขาก็จะมีแรงต้านทานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ความคิดลักษณะนี้ก็จะไม่มี" นายแพทย์ เกียรติภูมิ เสริม
ส่วน กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายนั้น ทางการจิตเวช ระบุถึง กลุ่มคนที่มีบุคลิกแบบ ฮิสเตอร์ริคอล (Hysterical Personality) ซึ่งอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อ่อนไหว ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งโดยพบได้มาก ในกลุ่มดารา,นักร้อง, นักแสดง เนื่องจากเป็นบุคลิกภาพที่เหมาะกับการแสดงบทบาทต่างๆ ส่วนกลุ่มนักกีฬา จะมีบุคลิกหลากหลาย แต่ในตำราบอกว่า ส่วนใหญ่ แล้วจะเป็นพวกชอบก้าวร้าว แต่ไม่อยากทำอะไรรุนแรงในชีวิตประจำวัน เลยแสดงออกผ่านมาทางเกมกีฬา การใช้พละกำลัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บุคลิกแบบ ฮิสเตอร์ริคอล นักกีฬาจะเป็นบ้างไม่ได้
ขณะที่ นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า แท้จริงนั้น พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่เลือกชนชั้น วรรณะ คนรวยหรือคนจน แต่โดยภาพรวม เห็นว่ากลุ่มคนที่ถูกคาดหวังหรือ คาดหวังกับตัวเองไว้สูง น่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
"เป็นนักกีฬา บางคนก็คงเครียด เพราะต้องมีการแข่ง แต่บางคนอาจจะไม่เครียด เพราะเขามีความสุขกับการเล่น แต่ถ้าเป็นนักกีฬาที่ถูกคาดหวังไว้เยอะ เขาก็คงมีความเครียดสูง และความเครียดเหล่านี้มันจะแปรผันไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งถ้าเป็นคนที่วิตกกังวลง่าย อารมณ์ไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว คนเหล่านี้ก็จะมีความเครียดได้ค่อนข้างเร็ว แต่บางที ความเครียดของเขา อาจไม่ใช่เรื่องกีฬา แต่อาจมีปัญหาในเรื่องส่วนตัวก็ได้" นายแพทย์ กัมปนาท กล่าว
หลากหลายกรณีการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น เรามักจะได้ยินคำว่า "โรคซึมเศร้า" ซึ่ง หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังสะสม ซึ่งนายแพทย์ กัมปนาท ยอมรับว่า หากใครมีอาการรุนแรง อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การปลิดชีพตัวเองได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักโรคนี้ แม้ว่าจะเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่แม้ตัวโรคจะเป็นอาการของคนสิ้นหวัง แต่คุณหมอยืนยันว่า โรคนี้ไม่สิ้นหวัง เพราะสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้
อย่างไรก็ตาม ในทางจิตเวช การฆ่าตัวตาย หมายถึง การร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งเราทุกคนที่ใกล้ชิดกับคนที่กำลังมีความคิดดังกล่าว สามารถช่วยเหลือคนๆนั้น ไม่ให้คิดสั้นได้ เพราะก่อนที่เขาจะตัดสินใจทำอะไรไม่คาดฝัน พวกเรามีเวลาเหลือเฟือสังเกตพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่กระบวนการฆ่าตัวตาย ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ขอแค่เราพร้อมเปิดใจรับฟังปัญหา และพยายามหาทางช่วยเหลือ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้คนที่คุณรักเลิกความคิดอยากฆ่าตัวตายแน่นอน
ทิ้งท้าย "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ได้รวบรวมรายชื่อนักฟุตบอลที่เสียชีวิต จากการฆ่าตัวตายในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำแฟนๆกีฬาว่า "การฆ่าตัวตาย" สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แม้ว่าร่างกายภายนอกจะแข็งแกร่งสักปานใด แต่หากจิตใจอ่อนไหว ที่สุดแล้ว คำตอบสุดท้ายของชีวิต คงไม่พ้นการหนีปัญหา ด้วยการปลิดชีพด้วยน้ำมือตัวเอง.
รายชื่อ นักฟุตบอล ฆ่าตัวตาย ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
27 พ.ย. 2011 แกรี สปีด อายุ 42 ปี (เวลส์) แขวนคอ
18 ต.ค. 2011 ลี ซู-ชุล อายุ 45 ปี (เกาหลีใต้) *ไม่ระบุ
22 เม.ย. 2011 โฮ เชือง ไซ อายุ 35 ปี (ฮ่องกง) กระโดดตึก
21 ธ.ค. 2010 โอเล็กซานเดอร์ โควาเลนโก อายุ 34 ปี (ยูเครน) กระโดดตึก
14 ธ.ค. 2010 เดล โรเบิร์ต อายุ 24 ปี (อังกฤษ) แขวนคอ
10 พ.ย. 2009 โรเบิร์ต เอ็งเค อายุ 32 ปี (เยอรมนี) ให้รถไฟชน
29 ก.ค. 2009 พอล แม็คกริลเลน อายุ 37 ปี (สกอตแลนด์) *ไม่ระบุ
29 ต.ค. 2008 ยิอานนิส คอสกิเนียติส อายุ 25 ปี (กรีซ) กระโดดหน้าผา
19 มิ.ย. 2008 ทิม คาร์เตอร์ อายุ 40 ปี (อังกฤษ) รัดคอตัวเอง
11 มิ.ย. 2008 อดัม เลดวอน อายุ 34 ปี (ออสเตรีย) แขวนคอ
27 มี.ค. 2008 อับราม ราเซเลมาน อายุ 30 ปี (แอฟริกาใต้) แขวนคอ
12 ก.ค. 2007 ฟอร์บส์ จอห์นสัน อายุ 35 ปี (สกอตแลนด์) *ไม่ระบุ
4 พ.ย. 2006 เซร์กี โลเปซ เซกู อายุ 39 ปี (สเปน) ให้รถไฟชน
18 ก.ค. 2006 วัตตา พารามบาธ สัตยัน อายุ 41 ปี (อินเดีย) ให้รถไฟชน
27 ก.ย. 2003 สตีฟ ฟาตูปัว-เลกาอิลล์ อายุ 27 ปี (เฟรนช์ โพโลนีเซีย) *ไม่ระบุ
1 พ.ย. 2002 เลสเตอร์ มอร์แกน อายุ 26 ปี (คอสตาริกา) *ไม่ระบุ
2 พ.ค. 1998 จัสติน ฟาชานู อายุ 37 ปี (อังกฤษ) แขวนคอ
5 ม.ค. 1998 เดวิด เลสไลส์ แบร์สโตว์ อายุ 46 ปี (อังกฤษ) แขวนคอ
18 ต.ค. 1997 รามิโร คาสติลโล อายุ 31 ปี (โบลิเวีย) แขวนคอ
20 ก.ค. 1995 ไรมุนโด ตัปเปอร์ อายุ 26 ปี (ชิลี) กระโดดตึก
30 พ.ค. 1994 อกอสติโน ดิ บาร์โตโลเมล อายุ 39 ปี (อิตาลี) ยิงตัวตาย
4 ก.พ. 1992 อลัน เดวิส อายุ 30 ปี (เวลส์) *ไม่ระบุ
ข้อมูล : wikipedia
twitter : thairath_sport
**ช่วยกันดูแลคนไทยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือกันนะค่ะ **
ร่วมเป็นแรงใจในการช่วยเหลือพี่น้องไทย เพื่อในหลวงกันนะค่ะ ♥
คลิก Like ที่ http://on.fb.me/tXPXaI นะคะ
เพื่อร่วมสนับสนุนช่วยผู้ประสบอุทกภัย ปี 54 ผ่านทางสภากาชาดไทยและครอบครัวข่าว 3 ของช่อง 3
โอกาสที่เราจะได้ร่วมทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม!! PSP CSR กิจกรรมเพื่อสังคม กันนะค่ะ !!!
เข้าไปคลิก Like ที่ http://on.fb.me/tXPXaI นะค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น